วันพุธที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2558

LINE FOR INSTRUCTION
ไลน์ ทางเลือกใหม่เพื่อการเรียนการสอน

วัชรวิชย์  นันจันที
______________________________________________________________________

   ในปัจจุบัน Social Network ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตประจำวันของเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการติดต่อสื่อสาร ติดตามข่าวสารต่างๆ หรือแม้กระทั้งใช้เพื่อการจัดการเรียนการสอนของนักเรียนนักศึกษา ในกลุ่ม Social Network เหล่านี้ Facebook ถือว่าเป็นแอพพลิเคชั่นที่กำลังได้รับความนิยมอย่างแผ่หลายและมีผู้ใช้จำนวนมาก แต่อีกแอพพลิเคชั่นหนึ่งที่กำลังได้รับความนิยมไม่แพ้กันก็คือ LINE โดยแอพพลิเคชั่น LINE จะตีตลาดในโซนเอเชียมากกว่าโซนยุโรปหรือโซนอื่นๆ และสำหรับประเทศไทย LINE กำลังเป็นที่รู้จักและมีจำนวนผู้ใช้มากขึ้นเรื่อยๆ
   เนื่องจากการใช้งานที่ง่าย และความสามารถที่หลากหลาย จึงทำให้มีคนนิยมใช้ LINE มากขึ้น และมีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นเรื่อยๆในอนาคต รายงานข่าวจาก ไลน์ คอร์ปอเรชั่น ผู้พัฒนาแพลตฟอร์มบนโทรศัพท์มือถือชั้นนำของโลกเปิดเผยว่า LINE ได้จัดประชุมธุรกิจออนไลน์ LINE Conference Tokyo 2014 ที่ประเทศญี่ปุ่น เพื่อนำเสนอแผนงานการสร้างธุรกิจของ LINE ที่มีอยู่ในปัจจุบันและที่จะเกิดขึ้นใหม่ในอนาคต โดยปัจจุบัน(9 ต.ค.57) LINE มีจำนวนผู้ใช้ 560 ล้านคนทั่วโลก อันดับ 1 คือญี่ปุ่น 54 ล้านคน อันดับ 2 ไทย 33 ล้านคน อันดับ 3 อินโดนีเซีย30ล้านคน อันดับ 4 สหรัฐอเมริกา 25 ล้านอันดับ 5 สเปนและเม็กชิโก 18 ล้านคนเท่ากัน และมียอดจำนวนผู้ใช้ประจำทุกเดือน (MAU) ทั้งหมด170 ล้านทั่วโลก
   จากสถิติข้างต้นพบว่าประเทศไทยมีจำนวนผู้ใช้ LINE ถึง 33 ล้านคน ซึ่งเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรของประเทศไทยแล้วจะเห็นได้ว่าประชากรของประเทศไทยมีการใช้ LINE เกินกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งหมดเลยทีเดียว สิ่งที่ทำให้ผู้ใช้หันมาใช้ LINE มากขึ้นคือ LINE มีความสามารถที่หลากหลาย ซึ่งความสามารถที่ LINE มีเหนือกว่า Social Network อื่นๆ คือ Voice Call จะเป็นฟีเจอร์ที่สามารถให้เราใช้แทนโทรศัพท์ได้ ทั้งในและต่างประเทศโดยไม่เสียเงิน  Video Call จะเป็นฟีเจอร์ที่สามารถให้เราใช้การคุยกันและสามารถเห็นหน้าคู่สนทนาได้ และความสามารถอีกอย่างหนึ่งของ LINE ก็คือ Sticker ที่ส่งให้กันผ่าน LINE ซึ่งอาจเป็นเพราะ LINE มีการทำ Sticker มาหลากหลายรูปแบบให้ผู้ใช้โหลด และ Sticker  ที่ LINE ทำออกมาก็มีความน่ารักและเป็นที่ถูกใจของผู้ใช้ ทำให้ LINE มีความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ นอกจากที่ได้กล่าวมาข้างต้น LINE ยังสามารถใช้งานการแชทแบบกลุ่มและการแชร์ภาพ วิดีโอ เสียง ระหว่างการสนทนาได้อีกด้วย และ LINE ยังมีการทำแอพพลิเคชั่นในกลุ่มเดียวกันออกมา ไม่ว่าจะเป็น Line Camera, Line Card Card Electronic, Line Brush Application เป็นต้น


   ด้วยจำนวนผู้ใช้ที่มีจำนวนมากและความสามารถที่หลากหลายของ LINE ทำให้ LINE เริ่มมีบทบาทในการจัดการเรียนการสอนในปัจจุบันมากขึ้น หากเรามอง LINE ในฐานะเครื่องมือเพื่อการศึกษาและเรียนรู้ในชั้นเรียนแล้ว LINE จะสามารถทำหน้าที่ในหลากหลายบทบาท เช่น

เป็นช่องทางในการติดต่อสื่อสารระหว่างครูกับผู้เรียน

   ในการจัดการเรียนการสอนเมื่อครูผู้สอนได้มอบหมายงานและต้องการดูความคืบหน้าของงานที่มอบหมาย ด้วยความสามารในการแชทแบบกลุ่มของ LINE ผู้สอนสามารถตั้งกลุ่มแชท และให้ผู้เรียนรายงานความคืบหน้าผ่านแชทโดยการส่งเป็นข้อความ รูปภาพ หรือวีดีโอ โดยไม่จำเป็นต้องมารายงานความคืบหน้าในห้องเรียน





เป็นแหล่งรวบรวมและแบ่งปันความรู้
   ผู้สอนสามารถใช้ LINE เพื่อรวบรวมเอกสารประกอบการบรรยาย video link บันทึกการบรรยาย หัวข้อและผลของการอภิปรายในชั้นเรียน หรือข้อมูลสำคัญอื่นๆ ไว้ในกลุ่ม LINE เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้เรียนได้ทบทวนชั้นเรียน นอกจากนี้ LINE ยังสามารถใช้เพื่อรวบรวมภาพกิจกรรมต่างๆ ของชั้นเรียนเป็นการประชาสัมพันธ์และบันทึกการเรียนรู้

เป็นช่องทางในการจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์
   การเรียนการสอนในปัจจุบันไม่จำเป็นแค่อยู่ในห้องเรียนเท่านั้นแล้ว ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็สามารถทำการเรียนการสอนได้เพียงแค่มีอินเตอร์เน็ต ด้วยเทคโนโลยี Video Call ซึ่งเป็นการคุยกันแบบเห็นคู่สนทนาผ่านโปรแกรม video call ต่างๆ ทำให้สามารจัดการเรียนการสอนได้ทุกที่ทุกเวลา โดยการเรียนการสอนแบบออนไลน์ได้มีการนำมาใช้บ้างแล้วในประเทศไทย และด้วยความสามารถของ LINE ที่สามารถใช้ Video Call ได้ LINE จึงสามารถทำการเรียนการสอนแบบออนไลน์ได้เช่นกัน 


      สำหรับบทบาทของ LINE ในฐานะเครื่องมือเพื่อการศึกษาและเรียนรู้ในชั้นเรียนในตอนนี้ ยังถือว่ามีบทบาทน้อยอยู่เมื่อเทียบกับ Facebook เนื่องจากปัจจุบันนี้ Facebook ถือว่าเป็น Social Network หลักที่ใช้เพื่อการศึกษาในปัจจุบันเลยก็ว่าได้ แต่ด้วยความสามารถที่หลากหลาย และจำนวนผู้ใช้ที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆของ LINE สักวันหนึ่ง  LINE จะเป็น Social Network หลัก ที่ใช้เพื่อการจัดการเรียนการสอนได้อย่างแน่นอน


ข้อมูลอ้างอิง
เดลินิวส์. (2557). ไลน์"เผยผู้ใช้งานทั่วโลกทะลุ 560 ล้านคนพร้อมเปิดบริการใหม่(ออนไลน์).     
สืบค้นจาก http://www.dailynews.co.th/it/273115
Aekkapol Pollamart. (2558). แนวทางการใช้ Facebook เพื่อสนับสนุนการเรียนการสอน(ออนไลน์).
          สืบค้นจาก http://c4ed.lib.kmutt.ac.th/x-classroom/?p=720